ไผ่ (Bamboo)

การกระจายพันธุ์ของไผ่

ไผ่เป็นหนึ่งในกลุ่มพืชสีเขียวตลอดปี (evergreen plant) อยู่ในวงศ์ Poaceae อนุวงศ์ (subfamily) Bambusoideae ในเผ่า (tribe) Bambuseae มีประมาณ 91 สกุล 1,000 ชนิด ซึ่งไผ่นับเป็นหญ้าชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบทั่วไปทุกสภาพอากาศ ตั้งแต่ภูเขาที่หนาวเย็นถึงเขตร้อนชื้นของโลก เกิดขึ้นตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ 50oN ละติจูด ในเกาะ Sakhalin มหาสมุทรแปซิฟิคตอนเหนือใกล้รัสเซีย), ตอนใต้ของเอเชียตะวันตกถึงภูเขาหิมาลัย และตอนใต้ถึงเหนือในออสเตรเลีย และยังพบในซาฮารา อาฟริกา และในทวีปอเมริกาจากตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาถึงตอนใต้ของชิลี และในทุกๆ ที่ที่ 47oS ละติจูด พื้นที่ที่ไผ่ไม่ได้เกิดขึ้นเองคือยุโรป อาฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก ตอนเหนือของอเมริกาเหนือ และทั้งหมดของออสเตรเลียและแอนตาร์คติกา

ไผ่ bamboo farm
ไผ่ (ฺBamboo)

ไผ่ในประเทศไทย

ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นอาหาร วัตถุดิบ ที่อยู่อาศัย และแม้กระทั่งยารักษาโรค ไผ่ในแถบร้อนของเอเชีย มีการกระจายพันธุ์ถึง 45 สกุล 750 ชนิด (Dransfield, 1980 อ้างใน สมยศ, 2536) ในขณะที่ไผ่ทั่วโลกเท่าที่รู้ในปัจจุบันมีประมาณ 75 สกุล 1,250 ชนิด (Sharma, 1980 อ้างใน สมยศ, 2536) ส่วนที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 13 สกุล 60 ชนิด (กรมป่าไม้, 2531 อ้างใน สมยศ, 2536) แต่วนิดา (2539) กล่าวว่าไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีทั้งหมด 1,250 ชนิด 65 สกุลในโลก ในประเทศไทยมีไผ่ 55 ชนิด 13 สกุล ชนิดไผ่ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์จากป่ามีดังนี้ คือ ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ซาง (ไผ่นวล ไผ่ปล้อง หรือไผ่สีนวล) ไผ่บงหวาน ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่รวกดำ และไผ่ป่า (ไผ่หนาม)

ในปี 2535 มีการจำแนกสภาพป่าจากภาพถ่ายดาวเทียมและการตรวจสอบภาคพื้นดินในพื้นที่ศึกษาเขตภาคเหนือ พบ ไผ่ไร่ ไผ่ซางนวล ไผ่บง และไผ่รวก เป็นส่วนใหญ่ซึ่งขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังพบไผ่อื่นๆ อีก ได้แก่ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่เขียว ไผ่ไล่ลอ เป็นต้น แต่ มีปริมาณน้อยกว่าไผ่ทั้ง 4 ชนิดแรก โดยจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมีป่าเบญจพรรณที่ไผ่ขึ้นอยู่ จำนวน 5,104,687 ไร่ และ 666,563 ไร่

ชนิดไผ่ที่พบมากในภาคเหนือมี 28 ชนิด ได้แก่ ไผ่บง ไผ่ป่า ไผ่ลำมะลอก ไผ่เหลือง ไผ่หอบ ไผ่เลี้ยง ไผ่สีสุก ไผ่น้ำเต้า ไผ่ผิว ไผ่บง ไผ่ไล่ลอ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่เฮียะ ไผ่ซาง ไผ่เซิม ไผ่หก ไผ่เป๊าะ ไผ่ซางดำ ไผ่ซางนวล ไผ่บงใหญ่ ไผ่ไร่ ไผ่ผากมัน ไผ่บงคาย ไผ่หางช้าง ไผ่เกรียบ ไผ่บงเลื้อย และ ไผ่รวกดำ (กรมป่าไม้, 2531 อ้างใน สมยศ, 2536)

สวนไผ่ bamboo farm
สวนไผ่ (ฺBamboo)

องค์ประกอบของป่าไผ่

ไผ่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณชื้น ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าดิบแล้งทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเกิดมีการแผ้วถางหรือไฟไหม้ ไผ่จะแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและปกคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางหากมีไฟไหม้รบกวนทำอันตรายอยู่เป็นนิจ จะทำให้เกิดป่าไผ่ขึ้นอย่างถาวร เช่น ป่าไผ่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงกล่าวได้ว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของที่เกิดไฟไหม้ (เต็ม และ ชุมศรี, 2512 อ้างใน สมยศ, 2536)

การขึ้นอยู่ของไผ่แต่ละชนิดพันธุ์ในท้องที่ต่างๆ กันนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ลักษณะภูมิประเทศ ไผ่แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่ในที่มีอุณหภูมิช่วงต่างๆ กัน โดยมีช่วงระหว่าง 8.8-36.0 องศาเซลเซียส ไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่จะต้องการที่ซึ่งมีอุณหภูมิผันแปรน้อยกว่าชนิดที่มีลำเล็ก ไผ่ที่มีลำใหญ่มักขึ้นปะปนกับไม้ใหญ่ ส่วนไผ่ลำเล็กอาจขึ้นกลางแจ้งได้ดี (สมาน และ นิตยา, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) ปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดที่ไผ่ต้องการประมาณ 40 นิ้ว (1,020 มิลลิเมตร) ต่อปี (Ahmed, 1957) ส่วนปริมาณน้ำฝนสูงสุดไม่แน่นอน ในที่ยังมีฝนตก คือ 250 นิ้ว (6,350 มิลลิเมตร) ต่อปี ก็พบว่ามีไผ่ขึ้นอยู่ การกระจายของไผ่ชนิดต่างๆ จึงมักถูกจำกัดโดยความชื้นทั่วๆ ไป เนื่องจากความชื้นไม่เพียงพอ เช่น ไผ่ฮก จะพบเฉพาะในที่ซึ่งมีความชื้นมากพอสมควร จึงมักจะเจริญได้ไม่ค่อยงามในป่าเบญจพรรณแล้ง ไผ่รวกพวกที่ขึ้นอยู่บริเวณที่มีอากาศแห้งแล้งความชื้นน้อยในฤดูแล้งจะมีลักษณะไม่สวยงามเหมือนที่ขึ้นอยู่ตามริมลำธาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความชื้นในดินและในอากาศ ไผ่บางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในท้องที่ที่มีความชื้นอยู่สม่ำเสมอตามบริเวณลำธารและลำน้ำ เช่น ป่าไผ่รวกที่จังหวัดกาญจนบุรีจะพบไผ่ป่า ไผ่ลำมะลอกขึ้นเต็มไปหมด และตามที่แห้งแล้งในจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานีจะพบไผ่รวกชนิดเดียวกันขึ้นอยู่ในเนื้อที่จำกัดและมีขนาดเล็กกว่าธรรมดามาก (บรรเทา, 2513)

2. ลักษณะดิน มักจะพบไผ่ขึ้นอยู่บนดิน sandy loam หรือ clay loam (สมาน และ นิตยา, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) ไผ่แต่ละชนิดมีความต้องการดินที่แตกต่างกันออกไป จึงอาจใช้ชนิดของไผ่เป็นตัวชี้สภาพของป่าที่แตกต่างกันได้ โดยทั่วไปไผ่ที่มีลำใหญ่ต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าไผ่ชนิดที่มีลำเล็ก เพราะต้องการธาตุอาหารไปใช้ในขบวนการสร้างมากกว่า ในทางด้านป่าไม้ลักษณะและชนิดของไผ่ที่ขึ้นอยู่สามารถชี้ถึงคุณภาพของดินโดยคร่าวๆ ได้ เช่น ที่ใดมีไผ่ขึ้นนับว่าเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ดีเหมาะสมที่จะทำเป็นเนื้อที่ปลูกสวนผักได้ ถ้าเป็นไผ่รวกดินจะเหนียวและเลวลง ยิ่งเป็นป่าไผ่ซางดินมักจะเป็นหินผุและขาดความอุดมสมบูรณ์ (อำนวย, 2521)

3. ส่วนขององค์ประกอบในป่า ปกติจะพบไผ่ขึ้นเป็นไม้ชั้นล่างของป่าดิบและป่าผลัดใบในบางแห่งพบป่าไผ่ล้วนๆ เป็นบริเวณกว้างมีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นปะปนเพียงเล็กน้อย ไผ่ส่วนมากจะขึ้นอยู่เป็นชนิดเดียวกัน แต่อาจมีขึ้นอยู่หลายชนิดปนกันก็ได้ ซึ่งไม่ค่อยพบมากนัก (Ahmed, 1957) นอกจากนี้ยังพบว่าไผ่ทางภาคใต้ เช่น ไผ่แนะ หรือไผ่คาย ที่ขึ้นปนอยู่กับไม้ยางพาราจะเจริญเติบโตดีกว่าพวกที่ขึ้นในที่โล่ง ทางจังหวัดกาญจนบุรีก็มีไม้ตระกูลถั่วและพวกสะแกเถาขึ้นอยู่ซึ่งจะให้ร่มและธาตุอาหารในดินโดยเฉพาะไนโตรเจนทำให้ไผ่รวกเจริญผิดปกติ ทางภาคเหนือที่พบว่าไผ่ไร่ที่ขึ้นในป่าผสมผลัดใบจะงามกว่าพวกที่ขึ้นในที่โล่ง (บรรเทา, 2513)

4. ความลาดชัน พบว่าด้านลาดไปทางทิศตะวันออก มักจะมีไผ่ที่มีสภาพการเจริญเติบโตดีกว่าหรือมีไผ่ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ เช่น ไผ่ตัวอย่างของคณะวนศาสตร์ที่เคยทำการเก็บสถิติอยู่นั้น มีไผ่ซาง ไผ่บงเล็ก และไผ่ไร่ เจริญเติบโตอยู่ทางด้านลาดเขาทางทิศตะวันออก แต่พอข้ามเขาไปสภาพดินเปลี่ยนแปลงเป็นพวกดินลูกรังพบว่าไผ่ไร่ขึ้นอยู่อย่างแคระแกรน (บรรเทา, 2513) ทางจังหวัดกาญจนบุรีก็เช่นกันด้านลาดเขาทางทิศตะวันออกมักจะมีไผ่เจริญงอกงามดีกว่าด้านลาดเขาทิศตะวันตก

ลักษณะของไผ่

ลำไผ่ (culms) อาจสูงเพียงไม่กี่เซนติเมตรจนถึง 40 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรจนถึง 30 เซนติเมตร แต่ละลำไผ่มีข้อและปล้อง ที่ข้อมีใบหนึ่งใบแต่อาจมีหนึ่งหรือหลายกิ่งแขนง ในหนึ่งต้นอาจมีไผ่นับพันลำ ไผ่ไม่ได้มีลักษณะแบบเนื้อไม้ ไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดียว (monocotyledons) เช่นเดียวกับพวกปาล์ม แต่ทั่วไปมักเรียกว่า ไม้ไผ่

องค์ประกอบ และลักษณะของไผ่
สวนไผ่ (ฺBamboo)

ไผ่หนึ่งต้นจะโตสูงสุดภายในหนึ่งปี แต่จะอยู่ได้หลายๆ ปี และเพิ่มจำนวนลำเรื่อยๆ ออกไปด้านข้างของกอไผ่ ไผ่บางชนิดออกดอกเมื่ออายุ 10-100 ปี หรือมากกว่านี้ แล้วจะแห้งตายหลังจากดอกพัฒนาเป็นเมล็ดแล้ว (monocarpic) ยิ่งไปกว่านั้นไผ่ชนิดเดียวกันจะออกดอกพร้อมกันในอาณาบริเวณเดียวกันอีกด้วย ซึ่งไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดเมล็ดมาทำลายไผ่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหนึ่งสำหรับสัตว์และมนุษย์

ไผ่หลายชนิดนิยมปลูกเลี้ยงในสวน ในแปลงไผ่เพื่อให้ผลผลิตสูงจำเป็นต้องมีการดูแลเพื่อให้รากหรือ Rhizome สามารถขยายกระจายไปใต้ดินให้แทงหน่อใหม่ได้ ซึ่งมีอยู่สองรูปแบบ คือ Clumbing หรือ Monopodial ซึ่งขยายตัวไปใต้ดินอย่างช้าๆ และ Running หรือ Sympodial ซึ่งขยายตัวไปอย่างรวดเร็วทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะดิน และสภาวะของบรรยากาศ บางชนิดเป็นหลายๆ เมตรในหนึ่งปี บางชนิดก็ชะงักงันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน และหากขาดการดูแลไผ่ไม่สามารถแทงหน่อได้หรือถูกตัดซ้ำที่กำลังขึ้นมาอาจทำให้ระบบรากไผ่ขาดความสมบูรณ์และตายได้ในที่สุด

ดังนั้นการทำสวนไผ่ควรจะเตรียมดินโดยการไถพรวน หลุมปลูกให้ขุดลึก 60-90 เซนติเมตร (2-3 ฟุต) และเป็นมุมขึ้นมาปากหลุมเพื่อให้รากไผ่ขยายบนผิวดินได้ ฝังรากไผ่ลึกลงไป 30 เซนติเมตร (1 ฟุต) เมื่อไผ่แทงหน่อแล้วปกติจะโต 30 เซนติเมตรในหนึ่งวัน แต่บางชนิดอาจโต 1 เมตรต่อวัน สำหรับแปลงไผ่ใหม่จะให้ผลผลิตเต็มทีต้องใช้เวลา 1-2 ปี

หน่อไผ่หรือหน่อไม้ใช้เป็นอาหาร โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆ วางขายในห้างสรรพสินค้า บางชนิดจำเป็นต้อนล้างหรือต้มด้วยน้ำเพื่อละลายสารพิษบางอย่างทิ้งไปบ้าง นอกจากนี้หน่อไผ่อ่อน ลำไผ่ และใบยังเป็นอาหารหลักที่สำคัญของของหมีแพนด้ายักษ์ของจีน และลิงแมงมุม (spider monkey) อีกด้วย

หน่อไผ่ และลักษณะของไผ่
สวนไผ่ (ฺBamboo)

ลำไผ่มีความแข็งแกร่งมากโดยเฉพาะเมื่อผ่านการอบแห้งอัดน้ำรักษาเนื้อไม้แล้ว สามารถนำมาสร้างบ้าน ทำรั้ว ทำสะพานเดน เครื่องเรือน ของเด็กเล่น นั่งร้านก่อสร้าง หมวก เครื่องดนตรีหลายชนิด พื้นบ้าน การใช้ลำไผ่จำเป็นต้องคัดเลือกไผ่ที่มีอายุหลายปีเพื่อให้ได้เนื้อไม้ เราสามารถดัดลำไผ่ให้เป็นเหลี่ยมได้ด้วยการครอบท่อเหลี่ยมบังคับ ซึ่งจะต้องค่อยๆ เลื่อนขึ้นไปตามลำไผ่ที่โตหรือสูงขึ้น สำหรับการทำกระดาษนั้นจีนเป็นชาติแรกที่คิดประดิษฐ์ ซึ่งทำด้วยมือมีคุณภาพสูงแต่ได้จำนวนน้อย ปัจจุบันยังคงผลิตกระดาษไหว้เจ้าจากไผ่เพื่อใช้อยู่ในสังคมจีน

ไผ่มีอายุยืนชาวจีนจึงถือว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ขณะที่อินเดียถือว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพื่อน และการออกดอกยากดังนั้นหากมีการออกดอกจะถือเป็นสัญญาณว่าความอดอยากกำลังจะมาถึงด้วย ในวัฒนธรรมของชาวเอเชียรวมถึงหมู่เกาะอันดามันเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาจากกอไผ่ ในตำนานของชาวมาเลเซียมีชายคนหนึ่งนอนฝันเห็นหญิงสาวสวยในกอไผ่เมื่อเขาตื่นขึ้นไปค้นหาและพบหญิงนั้นในกอไผ่ ในฟิลิปปินส์ชาวนาถือว่าไผ่ไขว่กันทำให้ดูมีเสน่ห์ ในญี่ปุ่นถือว่าป่าไผ่รอบๆ Shinto จะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจ ถือว่าเป็นไม้ที่สำคัญอันดับสองรองจากไม้สน ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงใช้ไผ่ตกแต่งในห้องอาหารหรือห้องรับรองในโรงแรมแบบพื้นบ้าน

ไผ่ bamboo
สวนไผ่ (ฺBamboo)

การจำแนกพันธุ์ไผ่

การจำแนกพันธุ์ไผ่อาศัยลักษณะของการเจริญเติบโตของเหง้า รูปลักษณะของกาบหุ้มลำและส่วนต่างๆ ของดอกเป็นเกณฑ์ ที่สำคัญคือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน มีหน้าที่เก็บสะสมอาหารและส่งอาหารไปเลี้ยงลำไผ่ ตาข้ออยู่ข้างๆ เหง้าจะพัฒนาเป็นหน่อและลำไผ่ในที่สุด โดยมีการจำแนกไผ่ตามการเจริญเติบโตของเหง้า 3 ลักษณะ คือ

  • ระบบเหง้ากอ (sympodial หรือ pachymorph rhizome) หน่ออ่อนจะแทงยอดออกมาจากตาเหง้าที่มีอยู่หลายตาแต่จะมีเพียงหน่อเดียวที่เจริญเติบโตต่อไป เหง้าใต้ดินจะมีขนาดใหญ่และสั้น หน่ออ่อนที่แทงออกมาจะเบียดกันด้านนอกกอที่แน่นทึบโดยมีลำแก่อยู่ข้างในกอ
  • ระบบเหง้าลำเดี่ยว (monopodial หรือ leptomorph rhizome) ลำอ่อนแตกมาจากตาของเหง้าใต้ดินเพียงบางตา ตรงส่วนของปลายเหง้าที่เจริญออกเป็นหน่อใหญ่ เหง้ามีระยะยาว แตกออกเป็นลำใหญ่ในปีต่อไปเรื่อยๆ เหง้าและลำจึงไม่อยู่ร่วมกัน
  • ระบบเหง้าผสม (intermediate หรือ metamorph rhizome) ในระบบนี้จะมีทั้ง 2 แบบ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความผันแปรของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ประโยชน์ของไผ่

  • เพื่อใช้เป็นอาหารพื้นบ้าน
  • เพื่อประโยชน์การใช้สอยในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน
  • เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวในระดับท้องถิ่น
  • ก่อให้เกิดการสร้างงาน ในด้านการเก็บหา การผลิต และการขนส่ง
  • พัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศ
  • ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากมีการจัดการอย่างถูกต้อง

ไผ่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ-สังคมต่อคนไทยในชนบทมาช้านาน ไผ่ใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มตั้งแต่รากซึ่งเป็นระบบรากฝอยประสานกันอย่างเหนียวแน่นช่วยยึดติดตามไหล่เขาและริมห้วยไว้ไม่ให้พังทะลาย ดินขุยไผ่มีลักษณะร่วนโปร่งเบาเหมาะกับการปลูกพืชพิเศษบางชนิด

การใช้ประโยชน์ไผ่ทางตรง อาทิเช่น รากใช้ประดิษฐ์เครื่องประดับ หน่อใช้รับประทาน ลำใช้ทำหัตถกรรมจักสาน ทำโป๊ะ ทำที่ค้างผักและผลไม้ ใช้ในงานด้านก่อสร้าง อุตสาหกรรมกระดาษ และ อุตสาหกรรมไหมเทียม ใบใช้เป็นภาชนะห่อของและมุงหลังคา เป็นต้น

ไผ่ bamboo
สวนไผ่ (ฺBamboo)

อุตสาหกรรมไผ่

ไผ่อัด เป็นการผสมผสานด้านการใช้ประโยชน์ระหว่างไผ่กับกาว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสวยงามและความทนทานของผลิตภัณฑ์แผ่นไผ่อัด ใช้ผลิตเครื่องเรือนต่างๆ และสำหรับการตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือน และใช้เพื่อแทนไม้แบบก่อสร้าง ซึ่งมีสมบัติที่ดีคือเมื่อแห้งแล้วไม่ดูดน้ำทำให้สามารถนำมาใช้ทำแบบได้หลายครั้ง (6-8 ครั้ง มากกว่าไม้แบบเดิมซึ่งได้เพียง 2 ครั้ง)

เยื่อกระดาษไผ่ ไผ่เป็นพืชที่มีเส้นใยยาวมากจึงเหมาะสมต่อการนำไปใช้ทำกระดาษให้ผลผลิตเยื่อกระดาษสูงและได้กระดาษที่มีคุณภาพดี มีโรงงานที่ จังหวัดขอนแก่น (บริษัทพินิคซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์ จำกัด) ใช้ไผ่รวกและไผ่ป่าจำนวน 300,000 ต้นต่อปี ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกไผ่ไม่น้อยกว่า 150,000 ไร่ แต่ส่งเสริมการปลูกได้เพียง 6,000 ไร่เท่านั้น (2535) (นอกจากนี้ยังใช้ปอและไม้ยูคาลิปต์เป็นวัตถุดิบด้วย) จังหวัดกาญจนบุรี (บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด) รับซื้อไผ่ราคา 800 บาท/ตัน (นอกจากนี้ยังใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบด้วย) จังหวัดพิษณุโลก ใช้ไผ่ทำกระดาษไหว้เจ้าส่งต่างประเทศ เป็นต้น

ไผ่รวกดัด เพื่อการส่งออกไม่มีการแปรรูปแต่อย่างใด เพียงแต่ผ่านกรรมวิธีบางอย่างเพื่อรักษาเนื้อไม้และแบ่งคุณภาพเท่านั้น โดยเสียภาษีการส่งออกเพียง 5 % ของราคาส่งออก (ไผ่ชนิดอื่น ๆ และไม้จะเสียภาษีการส่งออกถึง 40 % ของราคาส่งออก (2535)) ราคาไผ่รวกลำละ 0.70-1.50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความยาว ที่เหมาะสมควรมีอายุ 1 ปีขึ้นไปเพื่อให้การอาบน้ำยาป้องกันมอดและแมลงได้ผลดี ประเทศที่ส่งไป ได้แก่ ประเทศแถบยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมัน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ส่วนแถบตะวันออกกลางและปากีสถานนิยมนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการสร้างบ้านเรือน เต้นท์ทหาร กระโจมที่พัก เป็นต้น

เข่งไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมประเภทหนึ่งในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน โดยนำผิวของไผ่มา จักตอกเป็นเส้นแล้วนำมาจักสานขึ้นรูป ไผ่ที่ใช้คือไผ่รวกและไผ่นวล

ตะเกียบไผ่ ใช้ไผ่ซาง โรงงานผลิตมีที่ จังหวัดกาญจนบุรี (โรงงานเควีเอ็มเปเปอร์) และ จังหวัดลำปาง เป็นต้น เครื่องจักรทำตะเกียบมีการพัฒนาส่งเสริมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ราคาประมาณ 8 หมื่นบาท) ทั้งนี้เพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรจากไต้หวัน ญี่ปุ่น ไผ่ที่ใช้คือไผ่นวล ที่มีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป และเป็นลำใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป (จังหวัดกาญจนบุรี มีการนำไผ่จากพม่ามาใช้ด้วย)

ไม้จิ้มฟัน เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้ไผ่ซาง มีการผลิตที่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดชัยนาท เป็นต้น (ไม้จิ้มฟันที่ผลิตมาจากไม้ปอ ไม้งิ้ว และยางพารา มีข้อเสียคือเปราะและหักง่าย)

ไม้ซีก เป็นการผ่าไผ่เป็นซีก ใช้ทำคอกสัตว์ หรือส่งโรงงานทำไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบไก่ย่าง ไม้เสียบดอกไม้ เป็นต้น ไม้ซีกมี 2 ลักษณะ คือ ไผ่ผ่าซีก (จังหวัดลำปาง เรียกว่าไม้สะลาบ) โดยนำไผ่มาซอยตามยาวและตัดเป็นซีก แต่ละลำซอยได้ประมาณ 8-10 ซีก ตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 1-2.5 เมตร ขึ้นไป มัดหนึ่งมีไผ่ 50 ซีก โดยปกติไม้ซีก 1 มัด ใช้ไผ่ 2 ลำ ไม้ซีกอีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม้ตะเกียบ เป็นไม้ซีกขนาดเล็ก ความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ขึ้นไป ไผ่แทบทุกชนิดสามารถทำเป็นไม้ซีกได้ ส่วนใหญ่นิยมไผ่นวล

หัตถกรรมจักสานอื่นๆ ไผ่หลายชนิดใช้ทำหัตถกรรมเครื่องจักสานได้ ถือเป็นศิลปะพื้นบ้าน เพื่อใช้สอยในครัวเรือนของชีวิตประจำวัน เช่น กระด้งฝัดข้าว ตะแกรงร่อนข้าว ฝาชี กระบุง ตะกร้า กระจาด กระเป๋า ครุ เป็นต้น ไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่นิยมใช้จักสานมากที่สุด โดยเลือกอายุ 2-3 ปี ซึ่งจักตอกได้ง่าย (ถ้าอ่อนเกินไปจะไม่ทนทาน ถ้าแก่เกินไปเส้นตอกจะหักง่าย) หัตถกรรมไผ่ที่ส่งออก เช่น มู่ลี่ กันแดด ที่ จังหวัดกาญจนบุรี หัตถกรรมไผ่ที่มีฝีมือประณีต ที่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ใช้ไผ่นวล ซึ่งลำปล้องยาวถึง 1 เมตร มีเนื้อเหนียว หักยาก

ไผ่ bamboo
สวนไผ่ (ฺBamboo)

การขยายพันธุ์ไผ่

โดยทั่วไปการขยายพันธุ์ไผ่นอกจากการเพาะจากเมล็ดไผ่แล้ว จะทำการขยายพันธุ์โดยการแยกลำพร้อมเหง้า การปักชำส่วนของลำ การปักชำกิ่ง การแยกกอขนาดเล็ก และการตอนกิ่ง

ไผ่สามารถขยายพันธุ์ได้ 5 วิธี (กิสณะ และสุพล, 2548) คือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แยกเหง้า ชำปล้อง และการขยายพันธุ์โดยการปักชำแขนง ซึ่งมีวิธีทำดังนี้

  • การเพาะเมล็ด

    ไผ่เมื่อหมดอายุขัยจะออกดอกและตาย สามารถนำเมล็ดไผ่ที่ได้ไปทำการเพาะต่อไปโดยวิธีการดังนี้

    • 1.1 การเก็บเมล็ดพันธุ์
      • เมล็ดไผ่เมื่อแก่จัดจะร่วงลงพื้น ให้ทำความสะอาดหรือถางโคนต้นให้เตียน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมเมล็ดไผ่ หรือใช้วัสดุหรือตาข่ายรองรับเมล็ดพันธุ์ไผ่ กรณีเขย่าต้นให้เมล็ดร่วงจากต้น
      • รวบรวม เมล็ดพันธุ์ไผ่ที่ได้ ทำการฝัดด้วยกระด้งจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์
      • นำเมล็ดที่สมบูรณ์มาขัด นวดเอาเปลือกออกโดยใช้พื้นรองเท้าแตะฟองน้ำ ขัดนวดเมล็ดบนกระด้ง และฝัดเอาเปลือกออก
      • นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดด ประมาณ 1 แดด จึงนำไปเพาะได้ เพื่อป้องกันแมลงและไม่ควรเก็บเมล็ดไว้เกิน 1 เดือน เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง
    • 1.2 วิธีการเพาะกล้าไผ่
      • เมล็ดไผ่ที่จะเพาะ ให้ขัดเอาเปลือกนอกออกก่อน เพื่อให้เมล็ดงอกเร็วและเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
      • นำเมล็ดไปแช่น้ำ 2 คืน หรือแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วแช่น้ำอีก 1 คืน
      • นำเมล็ดขึ้นจากน้ำ แล้วห่อหุ้มเมล็ดด้วยผ้ารดน้ำให้ชื้นอยู่เสมอประมาณ 2 คืน เมล็ดจะเริ่มงอก
      • นำเมล็ดที่เริ่มงอกไปลงแปลงเพาะที่มีขี้เถ้าแกลบผสมดินและทรายรองพื้นหนาประมาณ 4 นิ้ว หว่านเมล็ดแล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 1 เซนติเมตร คลุมแปลงด้วยวัดสุคลุมดิน เช่น หญ้าแห้ง และฟางข้าว
      • ทำการย้ายกล้า ภายหลังจากการเพาะลงแปลงแล้วประมาณ 15 วัน ซึ่งต้นกล้าไผ่จะมีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ย้ายกล้าที่แข็งแรงลงถุงเพาะและอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร ประมาณ 6-8 เดือน ก็นำไปปลูกต่อไป
  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

    เราสามารถใช้ต้นกล้าไผ่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการนำต้นกล้ามาขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะชำกิ่งแขนงออกดอกและตาย เพราะกิ่งแขนงที่นำมาจากต้นแม่ที่มีอายุมากพร้อมที่จะออกดอกกิ่งแขนงนั้นจะมีอายุเท่ากับต้นแม่ ฉะนั้นเมื่อต้นแม่ออกดอก กิ่งแขนงที่นำไปปลูกจะออกดอกตายด้วยเช่นกัน

    ไผ่ bamboo
    สวนไผ่ (ฺBamboo)
  • การขยายพันธุ์โดยการแยกกอ เหง้า

    การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องคัดเลือกเหง้าที่มีอยู่ 1-2 ปี จะตัดให้ตอสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วทำการขุดเหง้ากับตอออกจากกอแม่เดิม โดยระวังอย่าให้ตาที่คอเหง้าแตกเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อต่อไป ส่วนหน่อขนาดเล็กที่ขุดขึ้นมา สามารถแยกกอไปปลูกได้เช่นกัน การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้เหง้าแม่ที่สะสมอาหารอยู่มากจึงมีอัตราการอดตายสูงทำให้หน่อแข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าวิธีขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ ได้พันธุ์ตรงกับสายพันธุ์เดิม

    ไผ่ bamboo
    สวนไผ่ (ฺBamboo)
  • การขยายพันธุ์โดยใช้ลำ

    การขยายพันธุ์วิธีนี้จะต้องทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1 ปี แล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1 ข้อ ซึ่งการใช้ท่อนตัด 1 ข้อ จะต้องตัดตรงกลางและให้รอยตัดทั้งสองห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ และควรเป็นลำที่มีแขนงติดอยู่โดยจะต้องตัดให้แขนงเหลือยาวประมาณ 1 คืบด้วย จากนั้นจึงนำไปชำในแปลงเพาะชำ โดยวางให้ข้ออยู่ระดับดินและให้ตาหงายขึ้น ระวังอย่าให้ตาได้รับอันตราย แล้วใส่น้ำลงในปล้องไผ่ให้เต็ม และคอยเติมน้ำให้อยู่เต็มอยู่เสมอ

    การเพาะวิธีนี้จะต้องหมั่นดูแลรดน้ำให้ความชุ่มชื่นอยู่เสมอหลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์จะพบหน่อและรากแตกออกมา เมื่อหน่อแทงรากแข็งแรงเต็มที่ ประมาณ 6-12 เดือน จึงทำการย้ายปลูกได้

  • การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนงปักชำ

    กิ่งแขนง คือ กิ่งที่แยกออกจากลำต้นไผ่ตรงบริเวณข้อ ซึ่งโคนกิ่งแขนงจะมีรากงอกเห็นได้เด่นชัด โดยมีการคัดเลือกดังนี้

    • ให้เลือกรากของกิ่งแขนงที่มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลืองและมีรากฝอยแตกจากรากแขนงแล้ว
    • ให้เลือกกิ่งแขนงที่ใบยอดคลี่แล้ว และกาบหุ้มตาหลุดหมดแล้วเช่นกัน
    • ให้เลือกกิ่งแขนงที่มีอายุ 4-6 เดือน ถ้าเป็นกิ่งค้างปียิ่งดี

ขั้นตอนในการปักชำกิ่งแขนง

เมื่อได้คัดเลือกกิ่งแขนงแล้ว ทำการตัดแยกกิ่งแขนงออกจากลำไผ่ จากนั้นตัดปลายกิ่งออกให้เหลือยาว 80-100 เซนติเมตร การปักชำควรจะทำในปลายฤดูฝนหรือในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก

ไผ่ bamboo
สวนไผ่ (ฺBamboo)
www.bamboofarm.org